บทความ : ดร. บุรินทร์ กำจัดภัย นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2551 Burin Gumjudpai, Ph.D. , F.R.A.S.

              ดร. บุรินทร์ กำจัดภัย เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นบุตรคนโตของนายวรพันธ์ และนางประทีป กำจัดภัย (โล่ห์ทองคำ) เรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนผดุงวิทย์ โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมงคลและโรงเรียนหล่มสักวิทยาคม ดร.บุรินทร์ไม่ได้ชอบวิชาฟิสิกส์ตั้งแต่แรก แต่ชอบกฎไวยากรณ์ภาษาอังกฤษมากกว่า จนสามารถสอบวิชาอังกฤษได้อันดับ 4 ของภาคเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2533

ต่อมาเมื่อได้เรียนเรื่องความเฉื่อย สนามแรงและทฤษฎีจลน์ของก๊าซ ประกอบกับได้แรงบันดาลใจจากหนังสือชีวประวัติของ Niels Bohr จึงเริ่มชอบวิชาฟิสิกส์ เมื่อสอบโควต้าเรียนที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ในปี พ.ศ. 2534 จึงเลือกเรียนฟิสิกส์ หลังจากนั้นเมื่อได้อ่านหนังสือ A Brief History of Time จึงอยากเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎี ขณะเรียนชั้นปีที่ 3 บุรินทร์, ศุภปิยะ สิระนันท์และเพื่อนๆ ได้ตั้ง “ฟอรัมฟิสิกส์ทฤษฎีระดับนักศึกษา” โดยหวังจะมีโอกาสได้สร้างสถาบันฟิสิกส์ทฤษฎีตามแบบ Niels Bohr Institute บุรินทร์เรียนในขั้นปานกลางและยังเป็นแกนนำนักศึกษาในการต่อต้านระบบ SOTUS จึงใช้เวลาเรียนถึง 5 ปีจนสำเร็จปริญญาตรีเมื่อปี พ.ศ. 2539 ในปีเดียวกันได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรและตั้งกลุ่มฟิสิกส์ทฤษฎีท่าโพธิ์ (TPTP) ขึ้นในเดือนสิงหาคมของปีนั้นเอง

ต่อมาเมื่อได้เรียนเรื่องความเฉื่อย สนามแรงและทฤษฎีจลน์ของก๊าซ ประกอบกับได้แรงบันดาลใจจากหนังสือชีวประวัติของ Niels Bohr จึงเริ่มชอบวิชาฟิสิกส์ เมื่อสอบโควต้าเรียนที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ในปี พ.ศ. 2534 จึงเลือกเรียนฟิสิกส์ หลังจากนั้นเมื่อได้อ่านหนังสือ A Brief History of Time จึงอยากเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎี

ขณะเรียนชั้นปีที่ 3 บุรินทร์, ศุภปิยะ สิระนันท์และเพื่อนๆ ได้ตั้ง “ฟอรัมฟิสิกส์ทฤษฎีระดับนักศึกษา” โดยหวังจะมีโอกาสได้สร้างสถาบันฟิสิกส์ทฤษฎีตามแบบ Niels Bohr Institute บุรินทร์เรียนในขั้นปานกลางและยังเป็นแกนนำนักศึกษาในการต่อต้านระบบ SOTUS จึงใช้เวลาเรียนถึง 5 ปีจนสำเร็จปริญญาตรีเมื่อปี พ.ศ. 2539 ในปีเดียวกันได้เข้า รับราชการเป็นอาจารย์ฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรและตั้งกลุ่มฟิสิกส์ทฤษฎีท่าโพธิ์ (TPTP) ขึ้นในเดือนสิงหาคมของปีนั้นเอง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ดร. บุรินทร์ได้รับการคัดเลือกจาก ก.พ. และ British Council ให้ได้รับทุน British-Thai Scholarship Scheme (โดยการเลือกนักเรียนทุนรัฐบาล ไทย 14 คนจากกว่า 400 คนที่ถูกชลอการเดินทางเนื่องจากสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ) ให้ไปศึกษาต่อที่ University of Sussex ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จปริญญาโททางฟิสิกส์ ทฤษฎีของเอกภพระยะแรกเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2542 ภายใต้การดูแลของ Dr. Mark Hindmarsh

จากนั้นได้รับทุนทบวงมหาวิทยาลัยให้ไปศึกษาต่อทางฟิสิกส์พลังงานสูงที่ University of Southampton แต่ได้ย้ายไปเรียนที่ Institute of Cosmology and Gravitation, University of Portsmouth จนสำเร็จปริญญาเอกเมื่อปี พ.ศ. 2546 ทางจักรวาลวิทยาเชิงทฤษฎีภายใต้การดูแลของ Professor Roy Maartens โดยได้ทำงานเป็น Part-time lecturer ของ University of Portsmouth ในระหว่างเรียนและได้รับเลือกเป็น Fellow of the Royal Astronomical Society ในปีเดียวกัน จากนั้น ดร. บุรินทร์ได้ กลับมาสอนที่มหาวิทยาลัยนเรศวร และได้ร่วมกับ ดร. ชนัญ ศรีชีวิน และอาจารย์ อลงกรณ์ ขัดวิลาศ เริ่มกิจกรรมของเครือข่าย TPTP ตามแนวคิดที่วางไว้หลายปีที่แล้วขึ้นอย่าง เป็นรูปธรรม

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2549 TPTP ได้ประกาศตัวเป็นสถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์สำหรับฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยา ซึ่งมีรูปแบบเป็น “สภาการศึกษาอิสระกับอาศรมวิชาและวิจัย” ที่ไม่เป็นทางการและได้รับการอนุเคราะห์ด้านสถานที่จากภาควิชาฟิสิกส์ ดร. บุรินทร์เป็นผู้ริเริ่มจัด Thai Schools on Cosmology และ Symposiums ขึ้นหลายครั้งที่พิษณุโลก และขอนแก่นตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนปริญญาเอกโดยได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น CRN-Physics พสวท. และ ICTPโดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังวาล เพ็งพัด ดร. สุขฤดี สุขใจ อาจารย์ ราชัญ แรงดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฑิราณี ขำล้ำเลิศ ดร. อรรุจี เหมือนวงศ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชิโนรัตน์ กอบเดช และ ดร. อรรถกฤต ฉัตรภูติ ร่วมจัดงาน

งานวิจัยขณะทำปริญญาเอกของ ดร.บุรินทร์ศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการขยายตัวออกแบบเร่งของเอกภพจากการมีอยู่ของมิติที่ 5 โดยได้สนใจแบบจำลองจักรวาลในเชิงพลวัต และได้ ทำนายว่าหากมิติที่ห้าในแบบจำลอง Randall Sundrum II มีอยู่จริง รังสีมืด (dark radiation) จากหลุมดำในมิติที่ 5 จะไม่มีผลต่อการก่อตัวของโครงสร้างระดับใหญ่ในเอกภพ เมื่อกลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้สนใจสาเหตุของการเร่งในอีกแนวทางหนึ่งที่ว่าการขยายตัวแบบเร่งออกนั้นเป็นผลมาจากพลังงานมืด (dark energy) ซึ่งได้ทำนายไว้ โดยกลไกการทำลายสมมาตรของแรงรากฐานหรือโดยการเคลื่อนที่ของภพแผ่น (branes) ในทฤษฎีสตริง โดยได้วิเคราะห์ระบบพลวัตรของพลังงานมืดแบบต่างๆ ทั้งแบบมีและไม่มี อันตรกิริยากับสสารมืด (dark matter) และได้สร้างแบบจำลองพลังงานมืดที่มีความเป็นทั่วไปมากขึ้น

ผลการวิเคราะห์สามารถนำไปตรวจสอบกับข้อมูลจากรังสีไมโครเวฟพื้นหลังและข้อมูลจาก supernovae ซึ่งช่วยให้นักฟิสิกส์ทฤษฎีใช้ความรู้ทางจักรวาลวิทยาสนับสนุน จำกัด หรือหักล้างแบบจำลองที่พลังงานต่ำ (low energy effective theories) ของฟิสิกส์พลังงานสูงอันเป็นทฤษฎีแห่งสรรพสิ่ง (เช่น Quantum Gravity)ได้ นอกจากนี้ ดร. บุรินทร์ ยังเป็นผู้บุกเบิกการวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบสมการชโรดิงเจอร์ของจักรวาลวิทยาและได้รับเชิญให้เขียนบทความ Review ในหนังสือ Dark Energy-Current Advances and Ideas บทความวิจัยที่ตีพิมพ์แล้วและ preprints ทั้งหมด 12 เรื่องของ ดร. บุรินทร์ได้รับการอ้างอิงบนฐานข้อมูล SPIRES รวมทั้งสิ้น 163 ครั้ง (นับถึง 18 มิถุนายน 2551)
ดร. บุรินทร์ได้ร่วมมือกับนักวิจัยต่างประเทศในหลายสถาบัน เช่น Tokyo University of Science, Jamia Millia (India), IUCAA (India), CERN, Queen Mary University of London, Victoria University (Canada) โดยได้รับทุนจาก สกอ.-สกว. (ทุนพัฒนาอาจารย์รุ่นใหม่ พ.ศ. 2547-2549 และทุนพัฒนาอาจารย์รุ่นกลาง
พ.ศ. 2549-2552) และโดยทุนวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นอกจากนี้แล้ว ดร. บุรินทร์ยังได้เข้าร่วมงานกับ รองศาสตราจารย์ บุญรักษา สุนทรธรรม ในการก่อตั้ง Southeast Asian Astronomy Network โดยเป็น Chair of Theoretical Astrophysics and Cosmology Working Group ในปี พ.ศ. 2550

ก่อนหน้านี้ ดร. บุรินทร์ได้รับรางวัล “นักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น สกอ.-สกว.” ประจำปี พ.ศ. 2548 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (รางวัลชมเชยวิทยานิพนธ์สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์) ประจำปี พ.ศ. 2550 ได้รับพระราชทานเข็มเกียรติคุณรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นระดับนานาชาติของ มหาวิทยาลัยนเรศวร 2 ครั้งจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปี พ.ศ. 2549 และ 2550 และได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่น ประจำปีของมหาวิทยาลัยนเรศวรในหลายประเภทรางวัล รวม 6 รางวัลในปี พ.ศ. 2549, 2550 และ 2551 ปัจจุบัน ดร. บุรินทร์ เป็นอาจารย์ระดับ 7 เป็นเมธีวิจัย สกว. Headmaster ของสถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ และเป็น Visiting Scholar ที่ Department of Applied Mathematics and Theoretical Physics, University of Cambridge เป็นเวลา 1 ปีด้วยทุนวิจัยหลังปริญญาเอกในต่างประเทศของมหาวิทยาลัยนเรศวรและทุนจาก Centre for Theoretical Cosmology, University of Cambridge